Tourist in Thailand

สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยปี 2008 -2015

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ในปี 2016 – 2017 ปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 3 โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว (49.9 Billion US$) ซึ่งรองจากอันดับ 1 คือประเทศสหรัฐอเมริกา (205.9 Billion US$) และอันดับ 2 คือประเทศสเปน (60.3 US$) โดยประเทศที่มีรายได้รองจากไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศฝรั่งเศส ตามลำดับ (ที่มา : UNWTO World Tourism Barometer, 2017) ซึ่งสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการเติบโตเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากรายรับจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังแสดงให้เห็นในรูปภาพที่ 1
 จากรูปภาพที่ 1 จะเห็นว่ารายรับจากการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงปี 2011 – 2016 โดยพบว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายรับรวมอยูที่ 16.28% โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายรับจากนักท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 13.04% และอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 18.24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเติบโตของรายรับจากการท่องเที่ยวของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ถึงแม้ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ การประกาศใช้กฏอัยการศึก หรือปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในประเทศไทยมากนัก
      จากสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยสามารถสรุปเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ดังรูปภาพที่ 2


           จากรูปภาพที่ 2 จะให้ได้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศไทยที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองเป็นสำคัญ แต่เมื่อเทียบกับรูปภาพที่ 1 จะพบว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองดังกล่าวแต่ไม่กระทบต่อรายรับจากการท่องเที่ยวมากนัก เว้นแต่ในช่วงปี 2014 ที่รายรับจากการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 58 ประเทศได้ออกประกาศเตือนให้ระมัดระวังการเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้รายรับจากการท่องเที่ยวในปีนั้นลดลงจากปีก่อน
          จากรายรับจากการท่องเที่ยวของประเทศไทยและสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะพบว่าการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในประเทศไทยถือเป็นแหล่งรายรับสำคัญที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ทางคณะผู้ศึกษาจึงได้นำข้อมูลการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในประเทศไทยมาศึกษาถึงวิวัฒนาการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้และสามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้

ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา

การศึกษาข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในประเทศไทยทำโดยรวบรวมข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา จำนวน 6 ตัวแปร ดังนี้
1.     ประเทศ (Country: i) จำนวน 44 ประเทศ โดยแบ่งเป็น ทวีปเอเชีย 24 ประเทศ ทวีปยุโรป 13 ประเทศ ทวีปอเมริกาเหนือ 2 ประเทศ ทวีปอเมริกาใต้ 2 ประเทศ ทวีปโอเชียเนีย 2 ประเทศ และทวีปแอฟริกา 1 ประเทศ
2.       ปี (Year: k) จำนวน 8 ปี คือ ช่วงเวลาในการศึกษาระหว่างปี 2008 – 2015
3.     จำนวนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากร (Tourist per Population) คือ จำนวนนักท่องเที่ยวประเทศ i ต่อจำนวนประชากรของประเทศ i 10,000 คน ที่มาเที่ยวประเทศไทยในปีที่ k (หน่วย : คนต่อหมื่นคน)
4.      ระยะเวลาพำนัก (Length of Stay) คือ จำนวนวันโดยเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวประเทศ i เข้าพักที่ประเทศไทยในปีที่ k (หน่วย : วัน)
5.      ค่าใช้จ่ายต่อวัน (per Capital Spending) คือ ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อวันที่นักท่องเที่ยวประเทศ i ใช้จ่ายในประเทศไทยในปีที่ k (หน่วย : บาทต่อวัน)
6.    รายได้รวมจากนักท่องเที่ยว (Tourist Receipts) คือ รายได้จากนักท่องเที่ยวประเทศ i ทั้งหมดที่ประเทศไทยได้รับ ในปีที่ k (หน่วย : ล้านบาท)
การสร้างภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Data Visualization)
          เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานี้เป็นข้อมูลอนุกรมเวลา (Time Series) โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ตัวแปร ดังนั้น เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเป็นเรื่องราว ทางคณะผู้ศึกษาจึงได้นำเทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหว (Animation) มาใช้เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา และได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการนำเสนอข้อมูลบนแผนที่ (Spatial Data Visualization) เพื่อใช้ในการนำเสนอข้อมูลแต่ละประเทศและเป็นการดูว่าตัวแปรนั้นมีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่หรือไม่ ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ ทางคณะผู้ศึกษาได้จัดทำในโปรแกรม Tableau โดยสามารถนำเสนอข้อมูลออกมาได้ดังนี้    
1. จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้รวมจากนักท่องเที่ยว (Tourist and Total Receipt)
เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยและรายได้ทั้งหมดที่ประเทศไทยได้จากแต่ละประเทศนั้น คณะผู้ศึกษาได้ใช้โปรแกรม Tableau ในการสร้างภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Data Visualization) โดยมีองค์ประกอบทางกราฟฟิก (Graphic Elements) ดังนี้
-   แผนที่ แทนประเทศ จำนวน 44 ประเทศ
-   การเคลื่อนไหว แทนปี จำนวน 8 ปี ได้แก่ ปี 2008 - 2015
-   เฉดสีเขียวระบายบนแผนที่ แทนรายได้รวมที่ประเทศไทยได้จากประเทศนั้น ๆ (หน่วย : ล้านบาท) โดยการไล่จากเฉดสีอ่อนไปสีเข้มแสดงถึงการไล่ระดับรายได้ทั้งหมดจากจำนวนน้อย (200 ล้านบาท) ไปมาก (400,000 ล้านบาท)
- วงกลมสีน้ำตาล แทนจำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรของประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

จากข้อมูลดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นได้ ดังรูปภาพที่ 3
รูปภาพที่ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้รวมจากนักท่องเที่ยว (Tourist and Total Receipt)
จากการคำนวณจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉลี่ย (เทียบสัดส่วนนักท่องเที่ยว 200 คนต่อจำนวนประชากรประเทศนั้น ๆ 10,000 คน) โดยพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศมาเลเซีย มีจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,600 คน, 1,400 คน และ 730 คน ตามลำดับ ยกเว้นในปี 2013 ประเทศมาเลเซียตกเป็นอันดับที่ 35 คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 22 คนต่อประชากรของประเทศมาเลเซีย 10,000 คน จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเทศ 3 อันดับแรกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรที่มาเที่ยวไทยมากที่สุดต่างเป็นประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น
จากข้อมูลรายได้รวมจากการนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศที่ประเทศไทยได้รับโดยใช้เฉดสีบนแผนที่แสดงข้อมูลนั้น พบว่าในปี 2008 2010 รายได้รวมที่ประเทศไทยได้รับไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 10% ต่อปี แต่ในปี 2011 2013 รายได้รวมที่ประเทศไทยได้รับเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% ต่อปี และมาลดลงในปี 2014 ประมาณ 3% อันเนื่องมากจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก และ 58 ประเทศได้ออกประกาศเตือนให้ระมัดระวังการเดินทางเข้าประเทศไทย ต่อมาในปี 2015 รายได้รวมที่ประเทศไทยได้รับก็กลับมาสู่สภาวะปกติเช่นเดิม
หากมองรายได้รวมที่ประเทศไทยได้รับในแต่ละประเทศ จากรูปภาพที่ 3 พบว่าประเทศจีนมีแนวโน้มนำรายได้เข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ประเทศจีนนั้นมีรายได้เข้าประเทศไทยสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 เฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 70% ต่อปี คิดเป็นสัดส่วนรายได้เข้าประเทศไทย 15% จากประเทศทั้งหมด 44 ประเทศ และประเทศที่รองลงมา คือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศอาร์เจนตินา และฮ่องกง นำรายได้เข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 30% และมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีต่อ ไปเช่นกัน ในทางกลับกันพบว่าสหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นำรายได้เข้าประเทศไทยลดลงเฉลี่ย 25% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จาก 3 ประเทศนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี
2. ระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ (Average Length of Stay by Region)
จากการนำประเทศทั้งหมดจำนวน 44 ประเทศ มาแบ่งออกเป็น 6 พื้นที่ตามสัญชาติ ได้แก่ เอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา เพื่อมาศึกษาระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ โดยคณะผู้ศึกษาได้ใช้โปรแกรม Tableau ในการสร้างภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Data Visualization) โดยมีองค์ประกอบทางกราฟฟิก (Graphic Elements) ดังนี้
-       แกน X แทนปี จำนวน 8 ปี ได้แก่ ปี 2008 - 2015
-       แกน Y แทนพื้นที่ที่แบ่งออกเป็น 6 พื้นที่
-       เฉดสีม่วงในตาราง Matrix แทนระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ย (หน่วย : วัน) โดยการไล่จากเฉดสีอ่อนไปสีเข้มแสดงถึงการไล่ระดับวันจากจำนวนน้อย (4 วัน) ไปจำนวนมาก (20 วัน)
จากข้อมูลดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นได้ ดังรูปภาพที่ 4
รูปภาพที่ 4 ระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่
พบว่าระยะเวลาพำนักในประเทศไทยของประเทศต่าง ๆ โดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2008 - 2015 ประมาณ 10 วัน โดยที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปมีระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยมากที่สุด คือ 15 วัน เนื่องจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวยุโรปมักใช้เวลาท่องเที่ยวในแต่ละครั้งเวลานานทำให้มีระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยมากที่สุด ในขณะที่ชาวเอเซียมีระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 7 วัน จากรูปภาพที่ 4 จะพบว่าตั้งแต่ปี 2008 - 2011 นักท่องเที่ยวแต่ละสัญชาติมีระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ส่วนในปี 2012 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย ส่งผลให้ระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 7 วัน แต่ในปี 2013 - 2015 นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยยาวนานขึ้น โดยมีระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปี 2012 และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเช่นนี้ต่อไป

3. จำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในปี 2015 (Tourist and Spending in 2015)
เพื่อศึกษาจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในปี 2015 คณะผู้ศึกษาได้ใช้โปรแกรม Tableau ในการสร้างภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Data Visualization) โดยมีองค์ประกอบทางกราฟฟิก (Graphic Elements) ดังนี้
-       กราฟแท่ง (Bar Chart) แทนจำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ ในปี 2015
-       กราฟเส้น (Line Chart) แทนค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ ในปี 2015 (ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ = ระยะเวลาพำนัก x ค่าใช้จ่ายต่อวัน)
-       แกน X แทนประเทศทั้งหมด จำนวน 44 ประเทศ
-       แกน Y แทนจำนวนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากร (หน่วย : ต่อหมื่นคน) และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อหัว (หน่วย : บาทต่อคน)
จากข้อมูลดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นได้ ดังรูปภาพที่ 5
รูปภาพที่ 5 จำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในปี 2015
จากรูปภาพที่ 5 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรในประเทศนั้น ๆ ที่มาเที่ยวประเทศไทยมากที่สุดในปี 2015 ได้แก่ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง และประเทศบรูไน ตามลำดับ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียและอยู่บริเวณใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่เมื่อพิจารณาควบคู่กับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยต่อคน พบว่านักท่องเที่ยวชาวเอเซียมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยน้อยที่สุด เฉลี่ยเพียงประเทศละ 37,000 บาทต่อคนเท่านั้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 26,000 บาทต่อคนเท่านั้น ในขณะที่นักท่องเที่ยวภูมิภาคอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงกว่า คิดเฉลี่ยประเทศละ 72,000 บาทต่อคน โดยประเทศอิสราเอล และประเทศสวีเดน มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยสูงถึง 81,000 บาทต่อคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรในประเทศนั้น ๆ มาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมากแต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเฉลี่ยต่ำ ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภูมิภาคยุโรปที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรในประเทศนั้น ๆ ที่มาเที่ยวประเทศไทยจำนวนน้อย แต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยจำนวนมาก

แหล่งที่มาของข้อมูล :
1. สถิตินักท่่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยปี 2008 -2015 http://www.tourism.go.th/view/1/สถิตินักท่องเที่ยว/TH-TH
2. Country list by region - base on United Nation Country Grouping http://www.internetworldstats.com/list1.htm

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สมาชิกกลุ่ม 
1. นางสาว นันทรัตน์ เชื้อสาย         รหัส 5820423029
2. นางสาว เบญจา เลิศศิริ             รหัส 5820423033
3. นางสาว สุกฤตา บุญเกียรติบุตร   รหัส 5820423043
4. นาย เกษม กิตติเกษมคุณ           รหัส 5820423046


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

WTF Visualization : Ugly Pie Chart (3)